ประกอบการ SME ไม่ว่าจะเป็นรายเก่าหรือว่ารายใหม่ เวลาเจอวิกฤตที่อาจจะไม่ใช่แค่เฉพาะโควิด เพราะหลังจากนี้ก็จะมีวิกฤตเรื่อย ๆ ทำให้บางคนก็ถึงกับเป๋ เราก็เริ่มเห็นหลาย ๆ เจ้าไม่ว่าจะเป็นเจ้าเล็กหรือเจ้าใหญ่ออกจากตลาดไป ในฐานะผู้ประกอบการจะจัดการหรือก้าวข้ามผ่านวิกฤตเหล่านั้นได้อย่างไร เรามาเรียนรู้ผ่านกรณีศึกษาร้าน Penguin eat shabu ที่ก้าวผ่านวิกฤตโดยเฉพาะช่วงโควิดมาได้อย่างสวยงาม
มาเริ่มต้นที่มุมของการเป็นเจ้าของธุรกิจกันก่อน
ก่อนที่จะมาทำธุรกิจเราก็เป็นเหมือนพนักงานออฟฟิศคนหนึ่งหรือเราเรียนมาเฉพาะทางจากคณะหนึ่ง เวลาเราเรียนอะไรเราจะเรียนเป็นแนวตั้ง คือรู้ลึก เช่น เรียนวิศวะ ก็จะเรียนจะฟิสิกส์ เลข แต่ไม่ต้องสนใจเกี่ยวกับบัญชี ไม่สนใจ Operation ไม่เคยสนใจการเงิน ไม่เคยสนใจเรื่องบุคคล ซึ่งแน่นอนว่าพอเราไปเป็นพนักงานออฟฟิศเราก็ยังดูในแนวตั้งอย่างเดียว มันทำให้เราเก่งลึก แต่ปัญหาของคนที่ทำงานเป็นพนักงานประจำคือเขาจะไม่เก่งกว้าง จะไม่รู้กว้าง
นี่แหละคือสิ่งที่เจ้าของธุรกิจจำเป็นต้องมี
นั่นคือ เราต้องรู้ลึกในบางเรื่องแต่เราต้องรู้กว้างในทุกเรื่อง ซึ่งเจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่มักจะเกิดมาจากคนที่เป็น Professional ในมุมนั้น ๆ อยู่ แล้วก็คิดว่าตัวเองเก่ง ตัวเองเริ่มเป็นที่รู้จักในตลาด จึงอยากออกมาเปิดธุรกิจเป็นของตัวเอง แล้วก็คิดว่าถ้าฉันเป็นวิศวกรที่เก่ง ฉันต้องเปิดบริษัทวิศวกรรมที่เก่งได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันอาจจะไม่ใช่ทั้งหมด เพราะว่าวิศวกรรมก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่จะหาลูกค้าอย่างไร รักษาลูกค้าอย่างไร ทำการตลาดอย่างไร
ดังนั้น Mindset หนึ่งที่สำคัญคือเราต้องไม่เรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียว
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราทำอาหารอร่อยก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเปิดร้านอาหารแล้วประสบความสำเร็จได้ เราอาจจะทำอร่อยกว่าร้านนี้ก็ได้แต่ร้านนี้ประสบความสำเร็จมากกว่าเพราะปัจจัยหลาย ๆ อย่าง การทำร้านอาหารที่ขายดีที่สุดก็อาจจะไม่ได้เป็นร้านที่อร่อยที่สุด แต่อร่อยมากพอสำหรับคนทั่วไปเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
ฉะนั้นมันคนละปัจจัยกัน หลายคนอาจจะมองแค่ว่าจะทำธุรกิจเดี๋ยวหาลูกค้าได้ก็จบแล้วทำให้ส่วนใหญ่หลายคนที่ทำร้านอาหาร ขายของออนไลน์ ก็เริ่มจากการใช้ลูกค้าที่เป็นเพื่อนใกล้ตัว แล้วก็คิดว่ามีคนมาซื้อนี่ขายได้แล้ว แต่ระยะยาวในอีก 1 ปี 2 ปี หรือ 3 ปีมันจะเป็นอย่างไร ถ้าวันหนึ่งมีคู่แข่งจะเป็นอย่างไร การทำธุรกิจของคนไทยหรือ SME ส่วนใหญ่มักจะคิดแค่ช็อตเทอมสั้น ๆ แต่ไม่ได้มองว่าถ้าเราต้องอยู่ไปยาว ๆ เราจะหาลูกค้าในระยะยาวอย่างไร เราจะรักษาลูกค้าอย่างไร เราจะทำอย่างไรให้ one time customer เป็น repeat customer คือกลับมาเป็นลูกค้าเราต่อเนื่อง
นอกจากนี้ พอเราสนใจหรือรู้แค่เรื่องเดียว เช่น เราเป็นวิศวกร ฉะนั้น Operation ขององค์กรก็จะดี เราก็ใช้สมองซีกซ้ายนำ เราคิดทุกอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอนกระบวนการ แต่เราไม่เคยเรียนรู้เรื่องสมองซีกขวา เลยทำให้เราเป็นองค์กรที่ Operation ดี
แต่สุดท้ายเข้าไม่ถึงลูกค้า พูดจาคนละภาษากับลูกค้า ซึ่งเราก็มักจะเห็นบริษัทวิศวกรรมส่วนใหญ่จะทำอะไรค่อนข้างแข็ง ๆ เพราะคิดมาจากมุมมองของวิศวกร ในขณะที่ถ้าเป็นบริษัทแนวครีเอทีฟ เราก็จะเห็นว่าทำการตลาดหวือหวา ทำอะไรก็ตรงใจลูกค้า แต่ Operation หลังบ้าน เรื่องการเงินอาจจะมีปัญหา
ดังนั้นเจ้าของธุรกิจควร Balance ระหว่างสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวาให้ดี ต้องวิเคราะห์ตัวเองก่อนว่าพื้นฐานเป็นคนใช้สมองซีกไหน แล้วก็ทำสมองซีกนั้นให้แข็ง แต่ก็ต้องไปเรียนรู้สมองอีกซีกหนึ่งด้วย เพราะว่าเวลาลูกค้าตัดสินใจไม่ได้ดูจากฟังก์ชันแต่ดูจาก emotional ไม่อย่างนั้นกระเป๋าใบหนึ่งคงขายใบละ 1 - 2 แสนบาทไม่ได้ เพราะคนซื้อใช้ใจในการซื้อ ฉะนั้นองค์กรก็ต้องทำการตลาดแบบใช้ใจกับลูกค้าเหมือนกัน
ในกรณีของร้านอาหาร ส่วนใหญ่ก็จะนำเสนอว่าอาหารรสชาติอร่อยคุณภาพวัตถุดิบดี ของสด ราคาถูก ซึ่งมันเป็น functional แทบทั้งหมด ไม่ใครพูดเกี่ยวกับ emotional เลย พอสินค้าไม่มีอะไรแตกต่างกันลูกค้าก็เลยเปรียบเทียบที่ราคาซึ่งทำให้ผู้ประกอบการหลุดออกจากกับดักราคาไม่ได้ ทำให้ SME ก็ต้องหั่นราคากันไปเรื่อย ๆ
ดังนั้นหาก Penguin Eat Shabu เริ่มต้นธุรกิจด้วยการเป็น follower เหมือนคนอื่นก็จะไม่สามารถเป็นแบรนด์ชาบูที่ก้าวขึ้นมาแถวหน้าได้เลย เพราะหากคอยแต่ทำตามคนอื่นซึ่งอย่างมากก็ได้แค่เท่ากับคนอื่น หากอยากไปไกลกว่านั้นต้องทดลองคิดมุมต่าง ๆ
ซึ่งในตอนแรกเราไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่คิดจะตอบโจทย์ลูกค้าหรือเปล่า เพราะฉะนั้นหากไม่รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร ก็ต้องไปทำการบ้าน ทำ Research จากลูกค้า แล้วลองเล่าเรื่องอีกมุมหนึ่งดู ในที่สุดก็กลายเป็น Penguin Eat Shabu ที่แตกต่างจากตลาดซึ่งลูกค้าตอบรับ
ประเด็นต่อมาคือเรื่องของความเสี่ยง รวมถึงความผิดพลาดที่เกิดจากการคิดต่างจากแบรนด์อื่น ๆ ในกรณีนี้ป้องกันได้โดยเริ่มจากการบาลานซ์สมอง 2 ซีก ในมุมการตลาด ในมุม branding ก็วางตัวเองให้แตกต่าง แต่ในมุมหลังบ้านนั้น Penguin Eat Shabu ใช้ตัวเลขมาวิเคราะห์ผล ถ้าอยากคืนทุนเร็วกว่าคนอื่นเท่าตัวจะทำอย่างไรได้บ้าง
1. ขายให้มากกว่าคนอื่น 1 เท่าตัว
2. ขายได้เท่าคนอื่นแต่ลงทุนน้อยกว่า 1 เท่าตัว ก็จะคืนทุนเร็วกว่า 1 เท่าตัว
โดยปกติแล้วร้านอาหารจะคืนทุนที่ 3 ปี แต่ Penguin Eat Shabu ต้องการคืนทุนในระยะเวลาปีครึ่ง วิธีการคือลงทุนให้น้อยกว่าคนอื่นหนึ่งเท่าตัว เช่น คนอื่นลงทุน 3 ล้านบาทได้ร้าน 1 ร้าน แต่ Penguin Eat Shabu ใช้เงิน 1 ล้านกว่าบาท เป็นค่ามัดจำ ค่าเช่า ค่าลงทุนอาคารสถานที่ แล้วใช้ไอเดียเข้าไปคิดว่าจะทำอย่างไรให้ลงทุนทำร้านราคาถูกแต่มีสไตล์จนได้ร้าน 1 ร้าน ในขณะที่คนอื่นทำไม่ได้
สุดท้ายด้วยวิธีการนี้ทำให้ Penguin Eat Shabu คืนทุนในระยะเวลาเพียงครึ่งปีจากที่ตั้งเป้าไว้ 1 ปีครึ่ง ซึ่งถือว่าเร็วมาก นอกจากนี้ ยังคิดถึงความเป็นไปได้ในอีกหลายรูปแบบคือ Base case จะเป็นอย่างไร Best case จะเป็นอย่างไร และ Worst case จะเป็นอย่างไร แย่ที่สุดรับได้หรือเปล่า ถ้ารับได้ก็ลงมือทำเลย
มุมมองเรื่อง Base Case, Best Case และ Worst Case คืออะไร สำคัญกับการทำธุรกิจอย่างไร
ในการวางแผนธุรกิจ ควรที่จะมีอย่างน้อย 2 แบบ คือ Base Case แบบที่มองตามความเป็นจริง ไม่ได้เข้าข้างตัวเองมากไป ไม่ได้มองโลกในแง่บวกจนเกินไป เช่น คิดว่าเปิดร้านแล้วคนจะเดินเข้าร้านกี่คน จะได้รู้ว่าร้านจะเป็นไปประมาณไหน ส่วนแผนที่ 2 คือ Best Case เช่น ลองคิดในกรณีที่ถ้าขายดี ถ้าคนเต็มร้านทุกวัน จะเป็นอย่างไร
ซึ่งหลายคนคิดแต่เรื่อง Best Case โดยไม่ได้อยู่บนความเป็นจริง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ววางแผนแค่ 2 แบบนี้ยังไม่พอต้องคิดในแบบ Worst Case ด้วย เช่น ถ้ามันแย่กว่าที่คิด ร้านอาจจะไม่มีคนเลยก็ได้ แล้วจะเป็นอย่างไรต่อ เงินที่กู้มาจะจัดการอย่างไร ต้องมีสำรองไว้ 3 แผน
นอกจากนี้ต้องคำนึงเสมอว่า การทำสำเร็จ 1 ครั้งไม่ได้การันตีว่าคุณจะทำครั้งที่ 2 3 และ 4 สำเร็จ และยังไม่สามารถเอาวิธีการที่ 1 ไปก๊อปปี้ให้เป็น 2 3 4 ได้เสมอไป เพราะบริบทเปลี่ยน คู่แข่งเปลี่ยน ลูกค้าเปลี่ยน สำคัญที่สุดคือเวลาเปลี่ยน
อีกสิ่งที่ Penguin Eat Shabu ให้ความสำคัญคือ ลูกค้า เป็นมุมมองแบบ customer centric คือลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เริ่มจากความต้องการของลูกค้าก่อน อีกเรื่องคือการสร้างความแตกต่างจากความเข้าใจกลุ่มลูกค้าว่า ลูกค้าที่มากินชาบูแค่อยากถ่ายรูปหน้าร้านและถ่ายรูปเวลากินอาหารที่โต๊ะ จึงไม่จำเป็นต้องไปลงทุนตกแต่งร้านให้มากมาย นับว่าเป็นการสร้างความแตกต่างแต่ก็ยังตอบโจทย์การเอาลูกค้าเป็นศูนย์กลางแถมยังลงทุนไม่สูงด้วย
Mindset ของผู้ประกอบการเวลาที่เจอวิกฤตควรจะเป็นอย่างไร
แนวคิดเรื่องใดที่ผู้ประกอบการไม่ควรมีหรือควรระวัง
ความกัดไม่ปล่อยจะน้อย เช่น พอทำไปสักพักก็เบื่อแล้วไปทำอย่างอื่นต่อทั้งที่ความจริงมันอาจจะดีแต่คุณยังพยายามกับมันไม่มากพอ ฉะนั้นอย่ายอมแพ้ ถ้าคิดจะทำอะไรสิ่งที่ต้องมีคือการซื่อสัตย์ต่อความฝันตัวเอง มันคือ commitment ว่าเราจะอยู่กับเรื่องนี้ไปอีก 10 - 20 ปี ต้องบอกตัวเองว่าจะต้องสู้ให้ได้
ถ้าทำได้จะกลายเป็น SME ที่เก่งอย่างมาก ๆ ในอนาคต แต่คำว่าอย่ายอมแพ้ ก็จะใกล้เคียงกับดันทุรัง จะต้องวิเคราะห์ให้ถูกด้วยว่าถ้าลองทุกทางแล้วมันไม่เวิร์คจริง ๆ ก็อย่ายื้อ ถ้าทดลองจนเต็มที่ทุกทางแล้วไม่ดีขึ้นอย่างที่คาดหวังก็ต้องหยุด
นอกจาก mindset ต่าง ๆ ที่ควรมีและไม่ควรมีในผู้ประกอบการดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือผู้ประกอบการต้องมี mindset รักการเรียนรู้ เช่นเดียวกับที่ คุณต่อ ผู้บริหาร Penguin Eat Shabu ที่ไม่ได้เรียนจบด้านธุรกิจมาโดยตรง แต่อาศัยการเรียนรู้ด้วยตนเองจากความสนใจ เริ่มจากการอ่าน การลงเรียนคอร์สต่าง ๆ เรียนรู้ เรียนรู้จากคนเก่ง ๆ รอบข้าง เรียนรู้จากการนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จนเชี่ยวชาญไปสอนคนอื่น เรียนรู้จากประสบการณ์ เป็นต้น
สิ่งสำคัญคือเมื่อเรียนรู้แล้ว ต้องเอาความรู้นั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจให้มากที่สุดด้วย เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จนั่นเอง
<แนะนำ>
ถ้าใครอยากเริ่มธุรกิจของตัวเองที่ต้องการองค์ความรู้ในการทำธุรกิจแบบ Step-by-step แนะนำหลักสูตร
Shortcut MBA ที่สอนทุกอย่างที่คนอยากทำธุรกิจให้สำเร็จต้องรู้ดูรายละเอียดได้ที่ลิงค์ http://bit.ly/3FYL93N
Reference
สำหรับตอนนี้เป็นซีรีส์เรื่องวิกฤตเศรษฐกิจตอนที่ 3 แล้ว โดย 2 ตอนก่อนหน้านี้ เราเล่าให้ฟังว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลกครั้งหนึ่งก็คือแฮมเบอร์เกอร์ ก็คือวิกฤตซับไพรม์ (Subprime) ที่เกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา ตอนนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง คนสมัยนั้นเขาลงทุนอะไรไป แล้วผิดพลาดอะไร ได้เล่าให้ฟังและถอดบทเรียนไว้แล้ว ในตอนต่อมาได้เล่าเกี่ยวกับวิกฤตปัจจุบัน คือวิกฤตไวรัสโคโรน่า หรือ COVID 19 ว่าอยากทำธุรกิจช่วงนี้ ควรระวังอะไรบ้าง ควรทำอะไรก่อน มีอะไรที่เราต้องรู้บ้าง
วันนี้จะมาคุยถึงเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยครั้งหนึ่งก็คือวิกฤตต้มยำกุ้ง ในปี 2540
เรื่องราวของวิกฤตต้มยำกุ้งค่อนข้างจะซับซ้อน ก่อนอื่นขอแนะนำตัวละครที่จะเกิดขึ้นในเรื่องนี้ ก็คือคำว่า “ค่าเงินอ่อน” กับ “ค่าเงินแข็ง”
คำว่าค่าเงินอ่อนและแข็งคืออะไร
ลองจินตนาการตามง่าย ๆ สมมติว่าตอนนี้อัตราแลกเปลี่ยนเงินคือ 30 บาทซื้อได้ 1 ดอลลาร์ แล้วสมมุติต่อไปว่าตอนนั้นประเทศไทยเศรษฐกิจดี คนก็อยากจะมาลงทุนในประเทศไทย อยากจะแลกเงินมาเป็นเงินไทยเยอะ ๆ แสดงว่าตอนนี้เงินของไทยกำลังเนื้อหอม เงินบาทก็จะแข็งแกร่งขึ้น ทำให้หลายคนแทบจะยอมซื้อเงินบาทที่ราคาดีกว่านี้ก็ได้ ทำให้ตอนนั้นแทนที่ 1 ดอลลาร์จะเป็น 30 บาท ก็กลายเป็น 1 ดอลลาร์แลกเงินไทยได้ที่ 25 บาท เพราะว่าตอนนั้นเงินของไทยกำลังแข็งแกร่งขึ้นนั่นเอง ซึ่งนี่ก็เป็นที่มาของคำว่าค่าเงินแข็ง
ส่วนคำว่า ค่าเงินอ่อน ก็ตรงกันข้าม สมมุติว่าตอนนี้ประเทศไทยเศรษฐกิจไม่ดี ไม่มีใครอยากจะแลกมาเป็นเงินไทยเลย สิ่งที่จะตามมาคือเงินไทยขาย 30 บาทก็ไม่มีคนซื้อ ขาย 35 บาทก็ไม่มีคนซื้อ หรือขาย 40 บาทยังไม่มีคนซื้อ แบบนี้แสดงว่าค่าเงินบาทกำลังอ่อนแอ ค่าเงินบาทอ่อนตัว
ตอนนี้เราเข้าใจตรงกันแล้วว่า ค่าเงินแข็งคือค่าเงินแข็งแรง ค่าเงินอ่อนก็คือค่าเงินบาทอ่อนตัว
ทีนี้นั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปในช่วงก่อนปี 2540 ตอนนั้นในประเทศไทยมีนโยบายในการทำให้ประเทศไทยเป็น Hub เศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย จินตนาการตามว่า สมมุติว่าตอนนี้มีชาวต่างชาติคนหนึ่งบอกว่าอยากจะลงทุนทำโรงงานสักอย่างนึงในประเทศไหนก็ได้ ความเสี่ยงที่สุดของเขาเนี่ยไม่ใช่เรื่องของแรงงาน ไม่ใช่เรื่องของเงินเดือนพนักงาน ไม่ใช่เรื่องของตลาด แต่เป็นเรื่องความเสี่ยงของค่าเงิน
ความเสี่ยงของค่าเงิน เป็นอย่างไร
สมมุติชาวต่างชาติคนนั้นเอาเงิน 1 ล้านดอลลาร์ลงทุนทำโรงงานในประเทศไทย ซึ่งตอนนั้นแลกเงินไทยได้ 30 ล้านบาท และตั้งใจเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้บริษัทขายได้เยอะ ๆ มีกำไรเยอะ ๆ เอามาจ้างคนงานจ้างผลิต ขายของจนได้ 60 ล้านบาท พอได้ 60 ล้านบาทก็ตั้งใจว่าจะแลกเงินกลับไปเป็นกำไรของตัวเอง ก็คือลงทุนมา 1 ล้านดอลลาร์ เอามาเป็นเงินไทยได้ 30 ล้านบาท ขายของได้ 60 ล้านบาท แล้วแลกกลับไปเป็นดอลล่า มันก็ควรจะได้ 2 ล้านดอลลาร์
แต่สมมุติว่าเจอความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน เช่น กว่าจะผลิต กว่าจะขายได้ เวลาผ่านไป 1 ปีกลายเป็นว่าตอนนั้นค่าเงินบาทเกิดอ่อนค่าลงพอดี ดังนั้นจากที่ 1 ดอลลาร์จะแลก 30 บาท กลายเป็น 1 ดอลลาร์แลกมาเป็น 60 บาท ทำให้ชาวต่างชาติคนนี้ แม้ขายได้ 60 ล้านบาทก็ปรากฏว่าแลกเงินคืนได้ 1 ล้านดอลลาร์เท่าเดิม ไม่มีกำไรเลย แบบนี้ก็คือความเสี่ยงของค่าเงิน ทำให้หลายคนเวลาที่จะเลือกลงทุนในประเทศต่าง ๆ เขาจะดูเรื่องความเสี่ยงความผันผวนของค่าเงินเป็นหลักด้วย ประเทศไหนความผันผวนของค่าเงินเยอะ ก็ไม่กล้าลงทุนเพราะลงทุนไปแล้วอาจจะไม่ได้เงินคืนก็เป็นได้ หรือขายของได้ก็กลายเป็นว่าหักกับค่าเงินแล้วไม่มีกำไรเลย
เมื่อเป็นเช่นนี้ นโยบายของรัฐบาลไทยในยุคนั้นก็เลยมีความตั้งใจว่าอยากจะให้ประเทศไทยเนี่ยเป็นประเทศที่ค่าความเสี่ยงทางการเงินน้อยที่สุด ประเทศไทยจึงไปถอดแบบความคิดของประเทศอังกฤษซึ่งมีนโยบายตรึงค่าเงินปอนด์ โดยการตรึงค่าเงินนั้น ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเงินบาทอ่อน ค่าเงินบาทแข็ง เพราะไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีก็จะได้ที่ราคานี้ เช่น วันนี้ 1 ดอลลาร์และได้ 25 บาท เวลาผ่านไป 1 ปี 1 ดอลลาร์ก็ยังแลกได้ 25 บาท
ดังนั้นจึงทำให้หลายคนสบายใจในการมาลงทุนในประเทศไทย พอลงทุนในประเทศไทยเยอะขึ้นเศรษฐกิจประเทศไทยก็ดีคือมีการจ้างงานเยอะขึ้น ก่อนปี 2540 เป็นยุคที่อุตสาหกรรมการผลิตของไทยรุ่งเรืองเป็นอย่างที่สุด เพราะว่าหลายประเทศมองว่าประเทศไทยน่าลงทุน แม้กระทั่งคนไทยเองก็มองว่าเมืองไทยน่าลงทุน
ตอนนั้นพอเศรษฐกิจมันไปได้ดี อาจเริ่มจากในตอนแรกมีเงินเท่านี้ นำไปลงทุนทำธุรกิจ ธุรกิจก็ขายดี เพราะว่าผลิตอะไรมาก็ขายได้ ส่งออกอะไรก็ส่งออกไปได้ดี สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ทำให้หลายคนโลภเกินจำเป็น โลภเกินตัว โดยเห็นว่าพอเศรษฐกิจดีก็อยากจะขายได้มากขึ้น จึงไปกู้เงินมาทำธุรกิจ
เมื่อเกิดการกู้ยืมเงินจากหลายธนาคารในประเทศก็ทำให้เกิดเหตุการณ์เงินภายในประเทศมีไม่เพียงพอ ธนาคารต่าง ๆ จึงเริ่มที่จะไม่ค่อยให้ปล่อยกู้ หลายคนถึงขั้นกู้ทุกธนาคาร กู้ทุกประเทศมาสร้างหลาย ๆ โรงงาน หลาย ๆ ธุรกิจ ประกอบกับตอนนั้นประเทศไทยก็มีนโยบายที่ชื่อ BIBF หรือที่มีชื่อเต็มว่า Bangkok International Banking Facility ซึ่งเป็นนโยบายที่ผ่อนคลายกฎเกณฑ์หลาย ๆ อย่าง โดยมุ่งหวังที่จะปั้นประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของอาเซียน แต่สิ่งที่ตามมาคือธนาคารที่ปล่อยเงินกู้ในประเทศไทยก็ดอกเบี้ยแพง
คำว่าโลภจนเกินตัวนั้น ไม่ได้ถูกใช้อยู่แค่กลุ่มของคนที่ทำธุรกิจ แต่ยังรวมถึงหลายธนาคารในประเทศไทยด้วยที่มองว่าการกู้ยืมเงินระหว่างประเทศมันง่าย แล้วดอกเบี้ยต่างประเทศมันต่ำ ธนาคารในไทยก็เลยไปกู้เงินจากต่างประเทศในอัตราดอกเบี้ยถูก แล้วเอามาปล่อยกู้ในประเทศในอัตราดอกเบี้ยที่แพงขึ้น ทำให้ธนาคารกินส่วนต่างของดอกเบี้ยได้เยอะ แล้วในเมื่อคนไทยก็ต้องการที่จะกู้เงินไปเพื่อทำธุรกิจเยอะอยู่แล้ว ก็ทำให้ธนาคารที่ปล่อยกู้ด้วยวิธีนี้ได้กำไรกันเป็นกอบเป็นกำ
ปัญหาก็เริ่มที่จะบานปลาย เพราะว่าตอนนี้คนที่กู้เงินไปนั้น ไม่ได้เอาเงินไปทำธุรกิจจริง ๆ แต่กู้เงินไปซื้อหุ้น กู้เงินไปเก็งกำไรในตลาดอื่น ๆ เพราะเห็นว่าการกู้เงินตอนนี้ดอกเบี้ยมันถูก มันได้มาง่าย เศรษฐกิจก็ไม่ได้เดินไปอย่างที่คิด สิ่งที่ค่อย ๆ สะสมตามมา ก็คือ ตอนนั้นทั้งตลาดหุ้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ถูกปั่นราคากันเป็นว่าเล่น
หลังจากนั้นธนาคารในต่างประเทศก็เริ่มเห็นว่า ลูกหนี้เริ่มมีพฤติกรรมจ่ายช้าลงหรือว่าชะลอการจ่ายหนี้ เริ่มหาเงินกลับมาจ่ายไม่ได้ เช่น คนที่เอาไปเล่นหุ้นปรากฏว่าเล่นแล้วเสียก็เลยไม่มีเงินมาจ่าย ประกอบกับการตรึงค่าเงินบาทนั้น ทำให้ประเทศไทยต้องเสียดุลจำนวนมาก ต้องเอาเงินไปพยุงค่าเงินบาท
เพราะว่าจริง ๆ แล้วค่าเงินจะอ่อนจะแข็งควรเป็นไปตามกลไกตลาดโลก ซึ่งตอนนั้นเองรัฐบาลไทยก็ต้องใส่เงินเข้าไปเพื่อที่จะพยุงค่าเงินให้อยู่ที่ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ตลอดเวลา ทำให้จำนวนขาดดุลเป็นจำนวนมาก แต่เพื่อแลกกับเศรษฐกิจที่ตามมา ทั้งการลงทุนจากต่างประเทศ ให้เกิดการสร้างงานให้กับคนไทย สร้างรายได้ให้กับคนไทย ก็ดูเป็นเรื่องที่แลกแล้วมันคุ้ม
ทีนี้ทำความเข้าใจกลไกการทำงานของนโยบายเศรษฐกิจ โดยปกติแล้วนโยบายเศรษฐกิจก็คือการที่จะใส่เงินก้อนหนึ่งลงไปเพื่อพยุงให้เศรษฐกิจดีขึ้น แล้วพอเศรษฐกิจฟื้นตัว เงินก้อนนี้ที่ลงทุนไปก็จะค่อยๆได้กลับมาจากการที่ภาคเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เติบโตขึ้น แต่ประเด็นคือในตอนนั้นหลายคนไม่ได้กู้เงินเพื่อเอาไปทำธุรกิจจริง ๆ แต่เอาไปใช้เล่นหุ้น ไปเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ เศรษฐกิจจึงไม่ได้โตขึ้นเร็วอย่างที่คิด ทำให้งบประมาณที่ตั้งใจนำมาพยุงเศรษฐกิจ เพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นไปได้ใกล้จะหมด พองบประมาณใกล้จะหมดแล้ว สุดท้ายรัฐบาลก็เลยประกาศยอมแพ้
รัฐบาลในขณะนั้น ได้ประกาศให้ค่าเงินบาทลอยตัวตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ซึ่งทำให้ค่าเงินบาทถูกปล่อยไปเป็นกลไกของตลาดโลก ทำให้ตอนนั้นค่าเงินบาทจากตอนแรกถูกตรึงไว้ที่ 1 ดอลลาร์เท่ากับ 25 บาท กลายเป็น 1 ดอลลาร์เท่ากับ 52 บาท หมายความว่า หากก่อนหน้านี้คนที่ไปกู้เงิน 1 ล้านดอลลาร์เท่ากับเป็นหนี้ 25 ล้านบาท
แต่การประกาศลอยตัวค่าเงินบาททำให้ในวันเดียวกลายเป็นหนี้ 52 ล้านบาททันที ซึ่งจุดนั้นเองทำให้หลายคนมีหนี้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว บริษัทต่าง ๆ นับพันแห่งปิดตัวลงในวันเดียว เศรษฐกิจพังทั้งหมด จากตลาดหุ้นที่ขึ้นไปเกือบ ๆ 2,000 จุดก็ลงมาต่ำกว่า 300 จุด หลายคนฆ่าตัวตายเพราะว่าคิดว่าชีวิตนี้คงหาเงินมาใช้หนี้ไม่ได้แล้ว คนส่วนใหญ่ตกงาน นับเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยครั้งหนึ่ง
แต่หลังจากนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร
เชื่อไหมว่าคนที่ยังอยู่รอดได้ คนที่ยัง Lean อยู่ คือคนที่ทำธุรกิจตามกำลังของตัวเอง คือพอมีกำไร ก็เอากำไรมาทำต่อ มีกำไรเยอะขึ้นก็ผลิตเยอะขึ้น ไม่ได้คิดที่จะไปกู้เงินให้มันเกินตัวมาเพื่อทำธุรกิจให้มันขายได้เยอะ ๆ ซึ่งหลังจากที่ผ่านวิกฤตต้มยำกุ้ง ลองนึกตามว่าแต่ก่อนผลิตขวดน้ำ แล้วส่งออกขายต่างประเทศในราคา 1 ดอลลาร์แลกเป็นเงินไทยได้ 25 บาท แต่วันนั้นขวดน้ำที่ขายต่างประเทศ 1 ดอลลาร์แลกกลับมาได้ 52 บาท บริษัทมีกำไรเป็นกอบเป็นกำ ทำให้จ้างคนเยอะขึ้น งานเยอะขึ้นอย่างมหาศาลเพราะบริษัทกำลังมีกำไรมากกว่าเดิม 2 เท่าโดยที่ไม่ได้ลงทุนอะไรเพิ่ม
ดังนั้นจึงอยากจะบอกว่าทุกวิกฤตมีโอกาส แล้วทุกวิกฤตเนี่ยเราจะเห็นว่าคนที่ล้มละลายไปคนที่ชีวิตพังทลายลงไป บริษัทที่เจ๊งไปตอนนั้นเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะจากวิกฤตต้มยำกุ้งหรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เกือบทั้งหมดเกิดจากความโลภที่เกินจำเป็นของมนุษย์เรา ดังนั้นไม่ใช่ความผิดหากว่าเรามีไอเดียที่จะไปกู้เงินมาทำอะไร เพียงแค่เราต้องประเมินก่อนว่าตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์ไหน และเรามีความสามารถที่จะทำเรื่องนี้ได้ขนาดไหน ถ้าจะทำอะไรทำได้ แต่คิดก่อนว่าเราเข้าใจเรื่องนั้นดีจริงหรือไม่
<แนะนำ>
ถ้าใครอยากเริ่มธุรกิจของตัวเองที่ต้องการองค์ความรู้ในการทำธุรกิจแบบ Step-by-step แนะนำหลักสูตร
Shortcut MBA ที่สอนทุกอย่างที่คนอยากทำธุรกิจให้สำเร็จต้องรู้ดูรายละเอียดได้ที่ลิงค์ http://bit.ly/3FYL93N
Reference
ทำธุรกิจอะไรดี วันนี้จะพาไปใช้เครื่องมือที่จะทำให้รู้ว่าธุรกิจอะไรมาแรง ธุรกิจอะไรที่ทำมาแล้วลูกค้าต้องการทั้งประเทศ และเครื่องมือนี้จะบอกได้ว่าสิ่งที่กำลังจะเอามาขายนั้น มีความต้องการมากน้อยแค่ไหน หรืออะไรบ้างที่ไม่ควรเอามาขาย วันนี้จะมาเล่าให้ฟัง
คำถามที่ว่า ถ้าอยากทำธุรกิจ แต่ไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี มีไอเดียธุรกิจแนะนำไหม หรือพอบอกได้ไหมว่าปีนี้ควรทำอะไร หรือธุรกิจอะไรที่ไม่ควรทำ วันนี้จะพาไปดูสถิติ จะได้รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อย่างแรกอยากจะเล่าให้ฟังก่อนว่า การเริ่มทำธุรกิจ ยากไหม คำตอบคือยาก แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ
เพราะถ้าดูจากสถิติ เราจะพบว่า จากสถิติของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เขาบอกว่า ปีที่แล้วมียอดจดทะเบียนบริษัทสูง แต่ยอดที่ขอปิดบริษัทก็สูงเช่นกัน เชื่อไหมว่าตัวเลขพวกนี้คือครึ่งๆเลย หมายความว่าปีที่แล้วมีคนจดบริษัท 100 บริษัท ปีนี้ก็จะมีบริษัทจากปีที่แล้วประมาณ 50-60 คนที่จะปิดบริษัทลง
ตัวเลขสะท้อนให้เห็นว่าการเริ่มธุรกิจไม่ได้ยาก แต่ความยากคือจะเริ่มธุรกิจอย่างไรให้ประสบความสำเร็จได้ ฉะนั้นสิ่งที่ยากกว่าทำให้สำเร็จ คือไอเดียตั้งต้นของธุรกิจ เพราะถ้าไอเดียของเราดีตั้งแต่แรก ก็จะสามารถไปได้ถูกทาง ก็จะสามารถขายดี ทำให้ธุรกิจเติบโตได้ แต่ถ้าไอเดียแย่ตั้งแต่แรก จะเจ๊งตั้งแต่ยังไม่เริ่ม
ฉะนั้นวันนี้จะมาเล่าให้ฟัง ปกติแล้ว ในเคสของเวลาเรียนธุรกิจ จะมีอยู่เคสหนึ่งที่นำมาพูดถึงอยู่บ่อยๆ คือเคสเรื่องปั๊มน้ำมัน ปกติถ้าเราพูดถึงปั๊มน้ำมัน ยกตัวอย่างสองประเทศ ประเทศแรกคือประเทศไทย ถ้าสมมติที่ที่เราขับไปจังหวัดนี้เป็นที่ยาวๆโล่งๆ ไม่มีปั๊มน้ำมัน จะมีคนเล็งเห็นโอกาสว่าปั๊มน้ำมันน่าไปเปิด เลยไปเปิดเพื่อให้รถที่สัญจรไปมาจะได้แวะเข้าปั๊มน้ำมัน ตรงนี้แหละประเด็น
เพราะว่าในเรื่องเล่าธุรกิจ จะมีเรื่องที่บอกว่า ถ้าสมมติเราเป็นคนไทย เราไปเห็นว่าปั๊มน้ำมันนี้คนเข้าเยอะ สิ่งที่คนไทยจะทำคือ เห็นธุรกิจนี้กำไรเยอะ เราทำบ้างดีกว่า แล้วก็จะเกิดการตั้งปั๊มน้ำมันข้างๆกัน อาจจะตั้งก่อนหน้าหน่อย เพื่อที่ลูกค้าผ่านมาจะได้แวะปั๊มเราก่อน พอเป็นอย่างนั้น หลังจากนั้นอีกคนหนึ่งมาเห็น ถนนเส้นที่มีปั๊มน้ำมันตั้งสองปั๊ม แสดงว่าธุรกิจนี้น่าจะไปได้ดี ก็เลยมาตั้งเป็นปั๊มที่สาม ก็จะเกิดการเปิดธุรกิจต่อๆกันไปเรื่อยๆ
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ รถกับถนนมีอยู่เท่าเดิม ก็จะเกิดการแย่งส่วนแบ่งกันต่อไปเรื่อยๆ ถ้าเปิดต่อกันสัก 4 ปั๊ม จะเกิดส่วนแบ่งการตลาดที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ สุดท้ายธุรกิจก็ฆ่ากันเอง ต้องลดแลกแจกแถม และนั่นคือที่มาว่า ผู้ประกอบการคนไทยหลายคน ใช้กรอบความคิดที่ว่า เห็นคนนั้นทำธุรกิจแล้วมันดี ก็เลยอยากทำบ้าง
ในส่วนของประเทศญี่ปุ่น เจอว่าถนนเส้นนี้มีโอกาสที่จะทำปั๊มน้ำมัน เขาจะมาตั้งน้ำมัน พอคนแรกตั้งปั๊มน้ำมันเสร็จ คนที่สองเห็นปั๊มน้ำมัน เขาเห็นว่าปั๊มน้ำมันเขาเยอะ เขาก็จะมองถึงโอกาสอื่นๆ เช่น การสร้างร้านกาแฟข้างในร้านกาแฟ พอคนอื่นมาเห็นว่ามีทั้งปั๊มน้ำมัน ทั้งร้านกาแฟ ตรงนี้เป็นถนนเส้นใหญ่ เราทำร้านเป็นอู่ซ่อมรถดีไหม ก็ขยายขึ้น กลายเป็นตลาดใหญ่ ต่อยอดไปได้เรื่อยๆ ซึ่งตรงนี้ทำให้ธุรกิจแต่ละที่เกื้อหนุนกัน เพราะบางคนอยากแวะซุปเปอร์มาเก็ต ก็ได้แวะเติมน้ำมันด้วย แวะซื้อกาแฟด้วย ซึ่งนี่เป็นมุมมองที่อยากให้เข้าใจก่อนว่า จริงๆแล้วธุรกิจจะไปต่อได้หรือไม่ มันขึ้นอยู่กับกรอบความคิด
ถ้าอย่างนั้นผู้ประกอบการไทยมีอะไรบ้างที่ทำพลาดไป จากรายงานจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าปีที่แล้วธุรกิจที่จดทะเบียนมากที่สุด คือธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจที่มีการปิดกิจการมากที่สุดในปีที่แล้วก็คือธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเช่นกัน ธุรกิจที่สองรองจากธุรกิจก่อสร้าง คือธุรกิจเปิดคาเฟ่ ร้านกาแฟ และปิดกิจการเป็นอันดับที่สองเช่นกัน ซึ่งหมายความว่า เปิดเยอะ ปิดก็เยอะ นั่นเพราะว่าหลายครั้งเวลาเราอยากทำธุรกิจ เราเห็นว่าอันนั้นดี คนนั้นทำแล้วรวย เราอยากรวยเหมือนเขา เราไม่กล้าเริ่มทำอะไรใหม่ๆ เพราะว่าคนนั้นเขาทำแล้ว เราสามารถทำตามได้ ถ้านึกภาพไม่ออกให้นึกอย่างนี้ สมมติวันนี้คุณเกิดที่หมู่บ้านหนึ่ง ที่ทั้งหมู่บ้านทำขนมเค้ก คุณยายทำขนมเค้ก คุณพ่อคุณแม่ทำขนมเค้ก คุณโตมาคุณคิดว่าเด็กคนนี้จะอยากทำอะไร ก็อยากทำขนมเค้ก ซึ่งนี่คือกับดักของผู้ประกอบการ
หลายครั้งเรามีมุมมองที่จำกัด ว่าเราคุ้นเคยกับธุรกิจแบบนี้ เราเห็นว่าธุรกิจแบบนี้สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ คนนั้นทำแล้วประสบความสำเร็จ เราเลยคิดว่าเราทำตามแล้วจะประสบความสำเร็จด้วย ซึ่งก็อาจจะถูก แต่ไม่ใช่ทั้งหมด
ทีนี้วันนี้ แทนที่จะพาไปดูสถิติย้อนหลังว่าที่ผ่านมาว่ามีธุรกิจอะไรเปิด ธุรกิจอะไรปิด ตรงนั้นไม่สามารถบอกอะไรได้ เราจะพามาดูสถิติอีกแบบหนึ่งดีกว่า ว่าจริงๆแล้วในโลกเราตอนนี้ ตลาดกำลังต้องการอะไร มีเครื่องมือหนึ่งที่จะพาทุกคนไปดู จากโทรศัพท์เพียงแค่เครื่องเดียว ซึ่งเครื่องมือตัวนี้เรียกว่า Google Trend วิธีการใช้คือ เปิดเข้าไปที่ Google และพิมพ์ว่า Google Trend ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ Google สร้างขึ้นมาเพื่อรวบรวมสถิติว่าคนค้นหาอะไรเยอะมากน้อยแค่ไหน พอเราดูที่ Google Trend แล้วกดเข้าไป กดเปลี่ยนโลเคชั่นเป็นประเทศไทย ที่รูปลูกโลก มันจะดึงข้อมูลเฉพาะของประเทศไทยขึ้นมาดู พอคุณเปลี่ยนโลเคชั่นเป็นประเทศไทยแล้ว คุณลองป้อนข้อความที่อยากค้นหา เช่น สมมติอยากรู้ว่าจะขายผ้าพันคอดีไหม พิมพ์ค้นหาผ้าพันคอ เขาจะบอก
เทคนิคการใช้งานคือ
กลับไปหน้าแรก แล้วเลื่อนลงมาข้างล่าง Google Trends ไม่ได้บอกว่าคำที่เราค้นหา มีการค้นหาเยอะหรือน้อย แต่Google Trends บอกอย่างหนึ่งว่า สิ่งที่คนค้นหาล่าสุด มีปริมาณเท่าไร เช่น คีย์เวิร์ด 1MDB มีคนค้นหา ห้าหมื่นครั้ง เสร็จแล้วกลับไปที่หน้าแรก ลองใส่ข้อความที่จะค้นหา เช่น 1MDB คือ เลือกช่วงเวลาตรงประเทศไทยเป็น ช่วงเวลา 7 วันที่ผ่านมา ทีนี้กราฟที่คุณเห็นจะเต็ม หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ Google Trends ไม่ได้บอกจำนวนว่าคนค้นหาปริมาณจำนวนเท่าไร เขาบอกแค่ว่าคนจากหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ค้นหาคำนี้เท่าไรบ้าง กี่เปอร์เซ็นต์
ซึ่งดูจากกราฟ กราฟที่เต็มร้อย คือคนค้นหา ห้าหมื่นคน หรือจำนวนที่บอกในหน้าก่อนหน้านี้ ทีนี้วิธีดูต่อ ให้เรากดคำว่าเปรียบเทียบที่อยู่ด้านบนประเทศ แล้วกดค้นหา เช่นจะเปรียบเทียบผ้าพันคอ กดค้นหาไป ต่อมา 1MDB คือเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนผ้าพันคอ จากร้อยเปอร์เซ็นต์น่าจะอยู่เพียงแค่ ห้าเปอร์เซ็นต์ ส่วนวิธีการดูก็เปิดเครื่องคิดเลข เมื่อสักครู่เต็มร้อยคือ ห้าหมื่นครั้งในการค้นหา และผ้าพันคอคือ ห้า ก็จะเป็น ห้าหมื่นคูณกับห้า แล้วหารด้วยหนึ่งร้อย คุณจะพบผลลัพธ์ว่า คนค้นหาเกี่ยวกับผ้าพันคอประมาณ สองพันห้าร้อยครั้งในช่วงเจ็ดวันที่ผ่านมา นั่นแสดงว่าคุณเห็นแล้วว่าธุรกิจนี้ มีโอกาสเป็นไปได้
นอกจากนี้ยังสามารถดูได้ว่า ในประเทศไทยมีคนค้นหาข้อมูลนี้จากจังหวัดไหนบ้าง และนี่เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อทุกๆคน และ Google Trends ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมคือ คำค้นหาที่เกี่ยวข้อง เช่น วิธีพันผ้าพันคอผู้ชาย ผ้าพันคอลายเสือต่างๆ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่จะทำให้รู้ว่าสิ่งไหนที่กำลังมาแรง ทำให้คุณรู้ว่าตลาดกำลังต้องการอะไร ฉะนั้นสิ่งนี้เป็นวิธีการที่จะช่วยให้ดูได้ว่า ณ ขณะนี้ คนกำลังต้องการอะไร ซึ่งนี่คือตัวอย่างเครื่องมือที่ผมคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อทุกๆคนแน่นอน
สมมติว่าเราจะเริ่มทำธุรกิจสักอย่างหนึ่ง เราไม่รู้ว่าจะขายอย่างไรดี นี่คือเครื่องมือที่เป็นประโยชน์
<แนะนำ>
ถ้าใครอยากเริ่มธุรกิจของตัวเองที่ต้องการองค์ความรู้ในการทำธุรกิจแบบ Step-by-step แนะนำหลักสูตร
Shortcut MBA ที่สอนทุกอย่างที่คนอยากทำธุรกิจให้สำเร็จต้องรู้ดูรายละเอียดได้ที่ลิงค์ http://bit.ly/3FYL93N
Reference
วันนี้เราอยู่กับ โค้ชของนักธุรกิจ ที่นักธุรกิจหลายคนในประเทศไทย ให้ความนับถือและเชื่อว่า คำแนะนำของท่านจะเป็นประโยชน์กับคนที่กำลังเริ่มทำธุรกิจ startup SME ทุกๆคน
มุมมองในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จของคุณธนินท์ เจียรวนนท์
ในมุมมองของผม ยุค 4.0 startup ที่เขาสำเร็จรวดเร็ว เขาทำในสิ่งที่โลกยังไม่เคยทำ ซึ่งผมเรียกว่า ตัวเบา หรือง่ายๆคือ ยุคใหม่ และตัวหนัก คือวิธีการเก่าๆ ในยุคใหม่นี้ส่วนใหญ่จะทำตัวเบา แล้วความสำเร็จของเขาคือขี่อยู่บนตัวหนัก
รุ่นใหม่ เรื่องใหม่ แน่นอนถ้าเรื่องเก่าที่ผมทำสำเร็จแล้ว เขาต้องเรียนรู้กับผม แต่ยุค4.0 เรากำลังทำของใหม่ ไม่ใช่เอาของเก่าไปเปลี่ยนแปลง ไปปรับปรุง เราต้องต่อยอด ทำของเก่าที่ยังไม่เคยทำ อย่างเช่น สื่อออนไลน์
ตัวเบา คือการต่อยอด ซึ่งไม่ต้องมารับผิดชอบ เหมือนกับตัวหนักที่ต้องเสียเวลานาน ในการผลิตสินค้าออกมา ต้องดูแลหลายขั้นตอน แต่คนรุ่นใหม่ ที่เขาทำสำเร็จ เพราะเขารับของจากร้านขายเพชรที่เป็นต้นทาง นำมาขายบนเว็บไซต์ ติดต่อกับบริษัทระดับโลกให้ได้การรับรองว่าเพชรนี้จริง มีตำหนิอะไรอย่างไร แล้วให้เขานำเพชรมาให้คุณ โดยที่ติดต่อกับบริษัทที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก เท่านี้คนก็กล้าซื้อแล้ว
ตัวเบาไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ทั้งค่าดูแลหน้าร้าน ค่าสถานที่ เพียงแค่มีกล้องถ่ายรูปอยู่ที่บ้านก็สามารถทำได้ ถ่ายแล้วขึ้นบนเว็บไซต์โดยที่ใช้เครดิตที่มีอยู่แล้วในโลก เท่านี้ก็สามารถทำธุรกิจได้แล้ว ซึ่งกลายเป็นว่าธุรกิจที่เป็นตัวเบา มีความสามารถที่จะปรับเปลี่ยน สามารถที่จะทำอะไรได้มากกว่าธุรกิจของตัวหนักสิ่งที่เราควรจะทำคือเรียนรู้จากสิ่งที่มันเกิดขึ้นมาแล้ว เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผมเอาประสบการณ์ทั้งชีวิตมาแนะนำให้เรา ซึ่งสามารถที่จะนำไปต่อยอดได้ไกลขึ้น
ตัวเบา ต้องใช้รุ่นใหม่คิด เขาจะมีความรู้ใหม่ๆ เขาจะมีแลกเปลี่ยนความรู้กันกับเพื่อนฝูง แลกเปลี่ยนในอินเทอร์เน็ต อย่างบริษัท Google ที่ผมไปรู้มา เขาบังคับพนักงานเขา คุณทำงาน 80% อีก 20% ให้พวกคุณไปคิดอะไรที่มันนอกกรอบ แล้วนำมาเสนอ ถูกผิดไม่เป็นไร แม้กระทั่งแม่บ้านก็ต้องคิด 20% นี้ด้วย
เขาต้องคิดว่าในฐานะแม่บ้าน ว่าเขาจะเสนออะไรใหม่ๆ ผู้บริหารก็มาร่วมฟังด้วย ว่าแม่บ้านมีไอเดียอะไร
เลยกลายเป็นว่า พนักงานสองหมื่นคนนั้น จะกลายเป็นสองหมื่นไอเดียธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในทุกเดือน
ปัจจุบันนี้คือยุคใหม่ คนยุคเก่าไม่ค่อยฟังเสียงคนยุคใหม่ ยุคเก่ามีขั้นตอนเยอะแยะ กว่าเสียงจะขึ้นมาถึงคนยุคเก่า ในยุค 4.0 ผมไม่มีขั้นตอนนั้น ผมให้อำนาจเขา คนทำงานอยู่หน้างาน ผมให้ความรู้เขา หาคนที่เหมาะสมแล้วให้อำนาจเขาเลย ผิดก็แก้ ทำของใหม่ไม่มีใครหรอกไม่ผิด ผิดไม่เป็นไร ผิดวันนี้แก้พรุ่งนี้ ไม่ใช่ทำของเก่า ของเก่ามันมีทางเดินเรียบร้อย มีตำรา มีคู่มือปฏิบัติ แต่ของใหม่มันไม่มี ลองถูกลองผิด
อย่างเช่น ผมสร้างทีมใหม่ ต้องไปเรียนรู้ทั้งทีม รู้เรื่องเดียวกัน รู้เรื่องขาย รู้เรื่องตลาด ทุกคนต้องไปสัมผัส รู้เหมือนกันหมด ถึงจะผนึกกำลังกันได้ ผมไม่รู้เรื่องคุณ คุณไม่รู้เรื่องผม แล้วผมจะช่วยคุณได้อย่างไร ยุค4.0 จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง ผมเลยได้เป็นเถ้าแก่ เพราะเถ้าแก่ต้องรู้ทุกเรื่อง และมีอำนาจในการแก้ไขทันที คำสอนของผมคือ ผิดเป็นครู แต่จะไม่ยอมอยู่เรื่องหนึ่งที่ว่า การผิดแล้วผิดอีก คนที่ไม่รู้เรื่องมาก่อนจะไปทำถูกได้อย่างไร ก็ต้องมาจากผิดแล้วถึงจะถูก
ผมทำให้เด็กกล้าคิด กล้าทำ ต้องให้เด็กมีอำนาจ ให้เขามีโอกาสแสดงความคิดเห็นของเขา โดยไม่ต้องถูกบังคับ ไม่เอาไปอยู่ใต้ผู้นำซึ่งผู้นำคิดไม่เหมือนกันก็ไม่ยอมให้ทำ ความรู้ความเก่งเขาก็ไม่กล้าแสดงออก เขาก็ไม่อยากอยู่ เพราะว่าผู้นำไม่เข้าใจเขาแต่วิธี 4.0 ที่จะใช้คนเก่ง ต้องสนับสนุนเขา จะให้คนเก่งทำงานแล้วสนุก ทุ่มเท
เรื่องแรกเลยต้องให้อำนาจ ไม่ใช่เงิน เงินเป็นสิ่งที่ต้องใช้ก็จริง แต่เราต้องให้เขาแบบเหมาะสม ถ้าให้ไม่เหมาะสมเขาก็ไปที่อื่น อย่ามองว่าเขาเห็นแก่เงิน เรื่องเงินคือพื้นฐานของมนุษย์
หนึ่งในคำถามที่ได้ยินบ่อยๆ คือ คำถามที่ว่า ทำไมเด็กรุ่นใหม่อยู่กับบริษัทไม่นาน
คำตอบคือ เขามีโอกาสที่จะได้แสดงความสามารถไหม เขามีโอกาสที่จะได้ทำอะไรที่มันเปลี่ยนแปลงไหม มีอนาคตไหม
ก่อนอื่นเราต้องทำให้เขาเห็นอนาคต ว่าเวทีนี้ถ้าคุณเก่งนะ เวทีนี้มันยิ่งใหญ่นะ เพราะฉะนั้นบางทีเราจำเป็นต้องทำให้บริษัทยิ่งใหญ่ ไปสู้กับต่างประเทศ เราถึงจะมีโอกาสได้คนเก่งมาทำงานช่วยกัน
คนเก่งถ้าบ่อน้ำมันเล็กไป แต่ปลาตัวใหญ่ก็ต้องไปอยู่ในมหาสมุทร เขาไม่ได้มาอยู่ในบ่อน้ำหรอก มันเล็กไป ฉะนั้นเราต้องเป็นมหาสมุทร ถ้าเราจะเลี้ยงปลาใหญ่ เราจะใช้คนเก่งร่วมมือกับคนเก่ง พัฒนาบริษัท เราต้องให้เขาเห็นอนาคตว่า ถ้าเขาเก่งเขาทำสำเร็จ เขาเติบโตได้อย่างไร ให้อำนาจ ให้เกียรติแล้วก็ให้เงิน
ในหนังสือของผมมีอยู่บทหนึ่ง พูดถึงความไม่ยอมแพ้ ทุกๆอย่างก่อนที่จะสำเร็จได้ ชีวิตคือการต่อสู้ เราต้องมีความมุ่งมั่น ความขยันอดทน ไม่พอยังต้องหมั่นเพียร เราต้องตั้งเป้าหมายแล้วมุ่งให้ได้ตามเป้ามุมมองในการบริหารการเงินในส่วนของการเงินที่เป็นธุรกิจ
ผมจะไปช่วยเกษตรกรที่ไม่มีเงิน ซึ่งผมไม่ได้อยากจะไปยึดที่ดินเขา ผมจะไปเป็นคนการันตีแบงค์ให้กับเขา แล้วมีเงื่อนไข เพื่อทำให้ที่ผมการันตีนั้นไม่ล้มเหลว ผมนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วย นำตลาดเข้าไป ถ้าเราจะปล่อยหนี้ให้เขา เราต้องไปช่วยเขาว่าเขาจะคืนหนี้ได้อย่างไร เขามีอุปสรรคอะไร เราต้องไปช่วยจัดการตรงนี้ แล้วยังต้องไปสอนเขา ในเรื่องการอย่าใช้เงินเกินตัว เพราะส่วนใหญ่พอมีเงิน มักจะมีคนมายุให้ซื้อของ
ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญคือ ถ้าผมการันตีเขาแล้ว ผมต้องรับผิดชอบ ผมคิดอย่างเดียวว่า ผมต้องทำให้เขาสำเร็จ ผมบอกว่าเราเป็นคู่ชีวิตกัน คำพูดในสมัยนั้น CP กับลูกค้าเป็นคู่ชีวิตกัน ถ้าเขาอยู่ได้เราก็อยู่ได้ เหมือนมันครบวงจร พอเขาได้ทำธุรกิจของที่บ้านเขาได้ สร้างขึ้นมาได้ เขาก็คืนเงินต้นได้ เลี้ยงครอบครัวได้ เขาก็ไม่ต้องมีหนี้มีสิน แล้วก็สอนเขาอย่าไปเพิ่มหนี้ เหมือนในหลวงที่สอนให้พอเพียง พอเพียงของในหลวงคือพอเพียงของแต่ละระดับ ไม่ใช่ว่าให้ทุกคนประหยัดเงิน ไม่ใช้เงิน แล้วสังคมจะเกิดการค้าขึ้นได้อย่างไร เศรษฐกิจก็อัมพาต คนต้องเข้าใจ ฉะนั้นการเงินสำคัญ
ถ้าผมจะกู้ให้ใครต้องดูว่าเขาไปรอดไหม ถ้าเขาไปไม่รอด เรากู้ไป วันหนึ่งก็ต้องเกิดปัญหาแน่นอน นอกจากไปเอาดอกเบี้ยสูงๆ มีหนี้เสีย แล้วเขาก็หมดตัว เราก็หมดลูกค้า แต่อย่างนี้เราไปช่วยเขา ถ้าเราจะกู้ให้เขา เราต้องไปดูว่าธุรกิจที่เขาทำ หรือเงินเดือนเขาเป็นอย่างไร เราต้องไปสอนเขา ให้เงินกู้เขาอย่างเดียวไม่พอ เราต้องไปสอนเขาให้พอเพียง อย่าใช้เงินเกินตัว ดีที่สุดคือให้ความรู้เขา ทำให้เขามีรายได้มากขึ้นอีก ใช้ความสามารถ ใช้ความรู้ เสริมความรู้ให้เขา เหมือนกับที่ผมได้ไปช่วยเกษตรกร เขาไม่มีเงิน ผมจะไปเอากำไรจากเขาได้อย่างไร
ผมต้องช่วยให้เขาร่ำรวยก่อน แล้วเขาถึงจะมีเงินมาคืนเรา เขาถึงจะมีเงินขยายพื้นที่ เลี้ยงไก่มากขึ้น ผมก็มีโอกาสซื้อไก่มากขึ้น ไปขายต่างประเทศ ขายตลาดภายใน
วิธีของผมคือ อย่างสมัยที่เขาเลี้ยงกันอยู่ ตัวละ 20 บาท เดือนนึงเฉลี่ยได้หนึ่งพันบาทต่อครอบครัว เลี้ยงได้ร้อยตัว ตัวละ 20 บาท ผมให้เขาเลี้ยงหมื่นตัว ตัวหนึ่งให้กำไรเขา 3 บาท ถูกไป 17 บาท สามารถส่งขายได้เลย แล้วคนเลี้ยงกำไรสามหมื่น เพราะหมื่นตัว ตัวละสามบาทก็สามหมื่นบาท คืนดอกเบี้ยเงินต้น ได้อย่างน้อยหกพันถึงหนึ่งหมื่น คืนแบงค์ ดอกเบี้ยเงินต้น พอเขาคืนเงินต้นเสร็จ ให้เขาเลี้ยงอีกหมื่นตัว คราวนี้สองหมื่น
ข้อคิดสำหรับคนทำธุรกิจใหม่ ที่ใช้ตั้งแต่วันแรกในการทำธุรกิจ CP มาจนถึงทุกวันนี้
เรื่องหนึ่งความสำเร็จของผม งานแรกของผม ผมไปอยู่สหพันธ์ สหกรณ์ค้าไข่แห่งประเทศไทย เป็นผู้จัดการ แล้วก็รองมาเป็นผู้จัดการสหสามัคคีค้าสัตว์ ในเรื่องสัตว์ปีก แล้วก็เลิก จอมพลสฤษดิ์สั่งเลิก ผมก็ตกงาน กลับมาช่วยครอบครัวตอนอายุ25 ผมทำงานตั้งแต่เด็กเลย 21ผมก็เป็นผู้จัดการแล้ว เดินทางต่างประเทศแล้ว แต่พอมาทำอาหารสัตว์ ต้องบอกเลยว่าผมไม่ได้ชอบ ผมชอบการสร้างหนัง ลงทุนเรื่องหนังเป็นผู้กำกับหนัง ชอบมาตั้งแต่เด็ก ชอบถ่ายรูป
แต่ถ้าผมเสียเวลากับสิ่งไหนแล้ว ไม่ชอบก็ต้องชอบ ไหนๆเราเสียเวลาแล้ว ก็ต้องไปเรียนรู้ให้รู้จริง ไม่ใช่ผิวเผิน ผมเป็นคนทำอะไรทำจริง ทุกครั้งผมต้องถามว่า แล้วเวลาที่ผมเสียไปผมได้อะไร ผมต้องเรียนรู้ให้เต็มที่ เรียนรู้ให้รู้จริง ต้องไปสัมผัส ต้องไปยอมเสียเวลามากขึ้น ผมทำอะไรผมมีสองเวลา เวลาหนึ่งคือส่วนตัว เสียไปเท่าไรคือความสุขส่วนตัว แต่ถ้าเมื่อไรต้องใช้เงินกับเสียเวลาที่เป็นเวลาส่วนตัวของผมแล้ว ผมต้องคิดว่าแล้วผมได้อะไร
ผมอยากจะฝากพวก startup ต้องทบทวนดูว่า เวลาทุกๆวันเราทำอะไรไป เวลาที่เสียไปเอากลับมาไม่ได้แล้วนะ เงินเท่าไรก็ซื้อกลับไม่ได้แล้ว เหมือนวันนี้ผมเอาเงินพันล้านมาซื้อให้ผมอายุน้อยลงอีกสิบปี ก็ทำไม่ได้ ฉะนั้นเราต้องเสียดายเวลาที่เราผ่านไป อย่าคิดว่าไม่เป็นไร ไปเที่ยวสนุก สุดท้ายมันไม่ได้สนุก ผ่านแล้วมันก็ผ่านไป แต่เราไปทำงาน เราจะมีงานติดกับเรา จะล้มเหลว หรือสำเร็จก็ตามมันอยู่กับตัวเราแล้ว
การเรียนรู้ใครๆก็เรียนรู้ได้ แต่การรู้จริง เราต้องทำ ทำแล้วได้ผลหรือไม่ได้ผล ถึงจะเรียกว่ารู้จริง
อีกเรื่องหนึ่งคือ การควบคุมตัวเราเอง ไม่ใช่พอเราเป็นเถ้าแก่ เราจะพักผ่อนก็ได้ ไม่ทำงานก็ได้ ไปเที่ยวก็ได้ เรายังต้องใช้เวลาอันมีค่า เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ต้องใช้เงินให้เหมาะสม ไม่ใช่เรากำไร เงินวันนี้มีแค่นี้ ควรจะซื้อรถ Toyota ไปซื้อแบงค์ นี่คือบริหารเงินไม่เป็น ล้มเหลวแน่นอน startupที่จะสำเร็จแล้ว สุดท้ายต้องควบคุมตัวเอง เหมือนอยากจะสอบทุกวัน ไม่มีใครควบคุมเราแล้ว เราต้องควบคุมตัวเอง ถ้าไม่ได้ก็ไม่สำเร็จ สำเร็จก็แค่ชั่วคราว
คุณบริหารเงินเป็นไหม นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ถ้าบริหารเงินไม่เป็นสุดท้ายก็หมดตัว กำไรก็ไม่พอใช้ ใช้เงินที่มันไม่เป็นประโยชน์ แน่นอนถ้าเราไปเที่ยว งบประมาณตรงนี้เราต้องมี ไม่ต้องกลัวไม่ห่วง ใช้เที่ยวใช้ให้มันสนุก แต่ถ้ามันเกินควรเมื่อไร จะทำให้เราล้มละลาย ทำให้เราจากสำเร็จกลายเป็นล้มเหลว ส่วนใหญ่startup ถ้าทำสามข้อนี้ได้ถึงจะยั่งยืน
ดังนั้นวันนี้ถ้าเราใช้ทุกวินาทีให้คุ้มสิบปี เหมือนเรากำไรเป็นพันล้าน นี่เป็นข้อคิดที่เด็กรุ่นใหม่น่าจะเอาไปเป็นแรงบันดาลใจได้
เรื่องของโครงการบ่มเพาะที่คุณธนินท์ เจียรวนนท์พูดถึง คือโครงการฟักไข่ สิ่งที่เราจะได้จากโครงการนี้คือประสบการณ์ ชั่วโมงบินของคนเก่งๆ ที่คอยมาโค้ชเรา คอยมาสอนเรา บางครั้งเราทำเองอาจจะใช้เวลากรุยทางสักสิบปี แต่พอมีโค้ช มีผู้ชี้แนะเก่งๆ เราอาจจะใช้เวลาทำแค่สองเดือน สามเดือนแบบนี้ก็สามารถเป็นไปได้
แล้วตอนนี้ True Incube กำลังเปิดรับสมัครรอบใหม่ ซึ่งเปิดรับสมัครในทุกๆปี สำหรับคนที่ทำ startup SME หรือว่ากำลังมีไอเดีย กำลังอยากจะทำธุรกิจ อยากจะมาเรียนรู้ประสบการณ์จากคนเก่งๆเหล่านี้ ไม่ควรที่จะพลาด ในการสมัครเข้าร่วมโครงการนี้
และสำหรับวันนี้ คาดว่าข้อคิดและบทเรียนที่คุณธนินท์ เจียรวนนท์ได้นำมาแบ่งปัน จะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลกับทุกๆคน และจะสามารถนำข้อคิดไปปรับ ประยุกต์ใช้กับชีวิตแล้วก็การทำธุรกิจได้
<แนะนำ>
ถ้าใครอยากเริ่มธุรกิจของตัวเองที่ต้องการองค์ความรู้ในการทำธุรกิจแบบ Step-by-step แนะนำหลักสูตร
Shortcut MBA ที่สอนทุกอย่างที่คนอยากทำธุรกิจให้สำเร็จต้องรู้ดูรายละเอียดได้ที่ลิงค์ http://bit.ly/3FYL93N
Reference: