ถ้าพูดถึงแบรนด์กระเป๋า “Street Fashion” ที่ผู้หญิงใช้ได้ ผู้ชายใช้ดี เน้นความ อึด ถึก ทน และแฝงด้วยกลิ่นอายความรักษ์โลก จนครองใจวัยรุ่นสมัยนี้ หลายคนคงนึกถึง FREITAG
FREITAG ความสำเร็จจากความคิดสุดแหวกแนว
จุดเริ่มต้นของแบรนด์นี้ เกิดขึ้นในเช้าวันหนึ่งที่ฝนตกหนัก ระหว่างการเดินทางไปทำงานของ Markus (มาคัส) และ Daniel Freitag (ดาเนียล) 2 พี่น้อง กราฟิกดีไซเนอร์ ชาวสวิตเซอร์แลนด์ ที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองซูริกเมืองที่ฝนชุ่มฉ่ำตลอดทั้งปี ด้วยปัญหานี้เอง ทำให้เขาทั้งสองมีไอเดียในการหากระเป๋าสักใบ ที่สามารถใส่เอกสาร อุปกรณ์การเรียน เครื่องเขียน รวมถึงสิ่งอื่น ๆ พร้อมสามารถสะพายหลังในขณะที่ปั่นจักรยานได้ และที่สำคัญที่สุดคือ ความอึด ถึก ทน เพราะระหว่างการเดินทาง อาจมีสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ซึ่งในช่วงนั้นเอง ( ปี ค.ศ. 1993) กระเป๋าหลากหลายรูปแบบที่มีวางขายในตลาด ไม่สามารถตอบโจทย์การใช้งานของทั้งสองได้
ขณะที่พวกเขากำลังคุยกันถึงไอเดียนี้ พวกเขามองออกไปนอกหน้าต่าง และเห็นรถบรรทุกผ่านไปมา ซึ่งทุกคันจะมีผ้าใบคลุมตัวรถเอาไว้ โดยฝ่าทั้ง ลม หิน ดิน ฝุ่น ฝน และ พายุ ไม่ว่ารถบรรทุกจะขับไปไหนต่อไหน ผ้าใบก็ยังทำหน้าที่ของตัวเองได้ดี ถึงแม้ภายนอกของผืนผ้าจะเก่า หรือสกปรก แต่ก็ยังปกป้องสิ่งของภายในรถบรรทุกได้อย่างดี
ดังนั้น Marcus จึงเกิดแรงบันดาลใจชวน Daniel ตระเวนหาซื้อผืนผ้าใบ ทั้งแบบเก่า และ ใหม่ เพื่อนำมาขึ้นแบบ โดยเริ่มตัดเย็บกันเองด้วยมือ พร้อมนำมาผสมผสานกับวัสดุรีไซเคิลอื่นๆ เช่น เลือกใช้ยางในของรถจักรยานเพื่อมาเย็บขอบผ้าใบให้กระเป๋าเป็นรูปทรงได้ รวมถึงใช้เข็มขัดนิรภัยเหลือใช้ มาตัดเป็นสายสะพาย จนทำให้กระเป๋า Freitag ใบแรกถือกำเนิดขึ้น ซึ่งเป็นต้นแบบของ รุ่น F13 TOP CAT เป็นกระเป๋าทรง Messenger bag ขนาด 30 ตร.ม. อันโด่งดังในปัจจุบัน
หลังจากที่เขาทั้งสอง นำกระเป๋าไปใช้ เพื่อน ๆ หลายคนที่มหาวิทยาลัยสังเกตเห็น และรู้สึกว่ากระเป๋านี้ ดูเท่มาก ทั้งแปลกแหวกแนว และแตกต่างจากของที่มีอยู่ในตลาด ณ ช่วงเวลานั้น ๆ จนเกิดเป็นกระแสอยากได้กระเป๋าแบบนี้ขึ้นในมหาวิทยาลัย ทำให้ 2 พี่น้องเริ่มตั้งธุรกิจอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากการรับพรีออเดอร์ เพื่อนคนไหนสนใจ สามารถจ่ายเงินมาก่อนได้ แล้วพวกเขาจะไปหาวัสดุ อุปกรณ์มาตัดเย็บให้
ต่อมาคำสั่งซื้อที่เข้ามา เริ่มมีเยอะขึ้น ทำให้พวกเขาเริ่มเห็นโอกาสทางธุรกิจที่มีอยู่ พวกเขาเริ่มเชื่อแล้วว่ากระเป๋าแบบที่กำลังทำไม่ควรจำกัดอยู่เพียงแค่เขาสองคนพี่น้อง หรือกลุ่มเพื่อนที่อยากใช้ แต่มีโอกาสที่ขยายไปในระดับโลกได้ด้วย ทั้งสองจึงเริ่มตัดสินใจสร้างธุรกิจโดยจดบริษัทในนามของ FREITAG
ในช่วงต้นของธุรกิจ พวกเขายังลงมือทำเองในทุกส่วนประกอบ ทั้งการ หาวัตถุดิบ ตัดเย็บ และจัดส่งให้ลูกค้าแต่ละรายด้วยตนเอง เมื่อออเดอร์เริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเริ่มจ้างโรงงานมาตัดเย็บ โดยที่คุณ Marcus และ Daniel ทำหน้าที่ในการคัดเลือกวัสดุ ควบคุมคุณภาพ ควบคุมการผลิต และออกแบบดีไซน์กระเป๋าแต่ละรุ่น
หลังจากนั้น FREITAG ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว และขยายไปเปิดตัวตามร้านต่าง ๆ จนกระทั่งเป็นที่นิยมในสวิตเซอร์แลนด์ และเริ่มวางแผนการตลาดที่มีหลักการมากขึ้น โดยใช้กลยุทธ์การตลาดแบบเก่า ที่ยังเก๋าจนถึงปัจจุบัน อย่าง STP Marketing
โดยในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างที่ชัดเจน ในเรื่องของ Positioning หรือ “จุดยืนของแบรนด์”
‘ We Think and Act in Cycles ’
เป็นคอนเซ็ปต์หลักของแบรนด์ คือ นับตั้งแต่วันแรกที่ทั้งสองคนเริ่มตัดเย็บกระเป๋าใช้กันเอง มาจนถึงวันที่กลายเป็นธุรกิจระดับโลก เขาก็ยังยึดมั่นคอนเซ็ปเดิมคือ การใช้วัสดุรีไซเคิล 100% แม้จะได้รับคำแนะนำจากหลายคนว่า หากเปลี่ยนวัสดุ จะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อีกมากมาย แต่เขาก็ยังยืนยันจะใช้วัสดุรีไซเคิลเท่านั้น นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะได้แล้ว การใช้วัสดุรีไซเคิลนี้เองที่ทำให้ FREITAG เป็นแบรนด์ที่มีเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ จนสามารถครองใจสายฮิปทั่วโลกได้ คือ กระเป๋าทุก ๆ ใบ ที่ผลิตออกมาจะมีลวดลายที่ไม่เหมือนกัน ถือเป็นความต่างผสานกับความเป็นพิเศษ ที่ทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ว่า FREITAG ของเขามีเพียงชิ้นเดียวในโลกเท่านั้น
ปัจจุบัน FREITAG ยังได้แตกไลน์สินค้าออกไปอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าถือ กระเป๋าหิ้ว กระเป๋าสตางค์ ปัจจุบัน Marcus และ Daniel ได้ส่งมอบหน้าที่การบริหารให้ผู้บริหารมืออาชีพ ในการบริหารบริษัทให้ยั่งยืนต่อไป และเขาทั้งสองคน กลับไปทำสิ่งที่ตัวเองรัก คือการออกแบบและคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ต่อไป
<แนะนำ>
หากใครอยากเริ่มธุรกิจของตัวเอง หรือต้องการองค์ความรู้ในการทำธุรกิจและการตลาด อย่างเช่น การวางกลยุทธ์แบบ STP ที่ 2 พี่น้องเจ้าของ FREITAG ทำจนประสบความสำเร็จ สามารถเรียนรู้ได้ผ่านหลักสูตร Shortcut MBA ที่สอนทุกอย่างที่คนอยากทำธุรกิจให้สำเร็จต้องรู้ แบบ Step-by-step ดูรายละเอียดได้ที่ลิงค์ http://bit.ly/3FYL93N
Reference :